อายุ 30 ปี ขึ้นไป เสี่ยงโรคจริงหรือ ?

เคยสังเกตกันไหม ทำไมเมื่ออายุเริ่มเข้าเลข 3 โรคภัยบางอย่างถึงเริ่มถามหา ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ก็แข็งแรงมาตลอด จริงไหมที่ว่ากันว่า อายุ 30 ปี ขึ้นไป เป็นวัยเริ่มเสี่ยงโรค แล้วถ้าอยากมีสุขภาพดีในวันที่อายุมากขึ้นเรื่อย ๆ เราจะมีวิธีชะลอความเสี่ยงโรคที่เกิดขึ้นตามวัยได้อย่างไรบ้าง

ทำไม อายุ 30 ปี ขึ้นไป เป็นวัยที่เริ่มเสี่ยงโรค

โรคหลายชนิดเกิดขึ้นตามอายุที่มากขึ้น เมื่อร่างกายมีความเสื่อมจึงมีโอกาสเป็นโรคได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะโรคเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ฉะนั้นคนที่มีภาวะอ้วน หรือมีพันธุกรรมจากโรคต่าง ๆ ควรมีการตรวจคัดกรองโรคเมื่ออายุ 35 ปีขึ้นไป เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนเมื่ออายุมากขึ้น 

คนวัย 30+ เสี่ยง 5 โรคยอดฮิตเหล่านี้จริงหรือหลอก

จากที่ร่างกายเคยแข็งแรง ไม่มีโรค แต่พออายุย่างเข้าเลข 3 หลายคนสังเกตว่าโรคต่าง ๆ เริ่มมาเยือน จริงไหมที่คนวัยนี้มีความเสี่ยงโรคเหล่านี้มากขึ้น

  • ความเชื่อที่ 1 อายุย่างเข้าเลข 3 เสี่ยงโรคเนื้องอกในรังไข่
    ความเชื่อนี้ไม่จริง โรคเนื้องอกในรังไข่เป็นโรคที่มีความเสี่ยงตามอายุที่มากขึ้น แต่ไม่ใช่โรคที่จะเป็นเมื่ออายุ 30+ หากคนในครอบครัวมีประวัติโรคนี้อาจเพิ่มความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น ฉะนั้น ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปจึงควรได้รับการตรวจคัดกรองโรคเนื้องอกในรังไข่ รวมถึงโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ
  • ความเชื่อที่ 2 อายุย่างเข้าเลข 3 เสี่ยงโรคไมเกรน
    ความเชื่อนี้ไม่จริง โรคไมเกรนพบได้ในทุกช่วงอายุ แต่ส่วนมากมักพบในคนวัยทำงานอายุ 30-39 ปี และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากวัยทำงานเป็นวัยที่เจอสิ่งกระตุ้นหลายอย่าง ทั้งความเครียด การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ นอนไม่หลับ หรืออากาศร้อน
  • ความเชื่อที่ 3 อายุย่างเข้าเลข 3 เสี่ยงโรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
    ความเชื่อนี้ไม่จริง โรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะหรือกระเพาะปัสสาวะอักเสบมักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากผู้หญิงมีท่อปัสสาวะสั้นจึงมีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายกว่า แม้ว่าปัจจุบันจะมีจำนวนผู้ป่วยโรคนี้มากขึ้น แต่โรคนี้สามารถเป็นได้ทุกเพศทุกวัย ยิ่งหากมีพฤติกรรมที่เป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างการดื่มน้ำน้อย หรือกลั้นปัสสาวะด้วยแล้ว โอกาสในการเป็นโรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะยิ่งมีมากขึ้น
  • ความเชื่อที่ 4 อายุย่างเข้าเลข 3 เสี่ยงโรคกรดไหลย้อน
    ความเชื่อนี้ไม่จริง โรคกรดไหลย้อนเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา รับประทานอาหารรสจัด รับประทานอาหารแล้วเข้านอนเลย หรือมีความเครียด ไม่ได้เป็นโรคที่เกิดขึ้นเมื่ออายุ 30+
  • ความเชื่อที่ 5 อายุย่างเข้าเลข 3 เสี่ยงโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน
    ความเชื่อนี้ไม่จริง โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนเกิดจากการยกของหนักผิดท่า ทำให้เกิดเกิดแรงกระทําต่อกระดูกสันหลัง หากกระดูกสันหลังมีความเสื่อมอยู่แล้วจะส่งผลให้หมอนรองกระดูกปลิ้นแตก แล้วกดทับเส้นประสาทได้

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

อาจารย์นายแพทย์ ธเนศ แก่นสาร ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

Comments are closed.