วัยทำงานเป็นวัยที่อยู่ในช่วงวัยที่เราละเลยการดูแลสุขภาพ หลายคนต้องนั่งทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ๆ จนทำให้มีสารพัดโรคตามมา และวันนี้ ประกัน.com มีข้อมูลมาเปิดเผย โรคร้ายที่มักเกิดกับคนทำงานออฟฟิศแบบไม่รู้ตัว มีอะไรบ้าง
- โรคกรดไหลย้อน
สาเหตุของโรคนี้ เกิดจากการทานอาหารไม่เป็นเวลา เคี้ยวอาหารไม่ละเอียด เครียดจัด สูบบุหรี่ หรือดื่มเหล้าหนัก และหากคุณเป็นโรคกรดไหลย้อนแบบเรื้อรัง (ระยะเวลากว่า 10 ปี) ก็อาจทำให้เป็นมะเร็งหลอดอาหารส่วนปลายได้
- โรคอ้วน
ปัจจุบันพบว่า คนวัยทำงานเป็น “โรคอ้วน” มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องนั่งทำงานแบบติดเก้าอี้ หรือชอบทำงานไป ทานอาหารไป และยิ่งไม่ค่อยออกกำลังกาย ความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอ้วนยิ่งสูงขึ้น ที่สำคัญโรคอ้วนยังเป็นบ่อเกิดของโรคสำคัญๆ มากมาย อาทิ โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง ฉะนั้น การที่คุณหันมาใส่ใจเรื่องอาหารการกินและหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ น่าจะเป็นวิธีป้องกันโรคอ้วนที่ดีที่สุด - โรคความดันโลหิตสูง
สำหรับ “โรคความดันโลหิตสูง”เปรียบเสมือนภัยเงียบที่คุณจะรู้ตัวว่าป่วยด้วยโรคนี้ เมื่อร่างกายมีอาการเตือน และปัจจัยที่ทำให้เกิดโรค ก็อาจเกิดจากความเครียด โรคอ้วน ทานอาหารที่มีรสเค็ม สูบบุหรี่ หรือดื่มเหล้า และหากคุณเป็นผู้ที่ทำงานนั่งโต๊ะในสำนักงานจะมีความเสี่ยงสูงกว่าผู้ที่ทำงานใช้กำลัง ที่สำคัญ ความดันโลหิตสูงไม่ใช่เรื่องโรคภัยเล็ก ๆ ที่เกี่ยวกับความดันเท่านั้น เพราะความร้ายแรงของโรคนี้ อาจนำไปสู่ภาวะเส้นเลือดแตก อัมพฤกษ์ อัมพาต ไตวาย และหัวใจวาย - โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
ในบางครั้ง คุณอาจตกอยู่ในสถานการณ์จำเป็น ที่ทำให้ไม่สามารถเข้าห้องน้ำได้ ทั้งแบบติดงานด่วนจริง ๆ หรือคิดไปเองว่า งานที่ทำอยู่รอไม่ได้ (แต่ห้องน้ำรอได้) แต่รู้หรือไม่ว่า การอั้นปัสสาวะนาน ๆ ไม่ใช่เรื่องดี และหากคุณอั้นปัสสาวะจนมีความรู้สึกว่าหายปวด นั่นเป็นสัญญาณเตือนว่า คุณอาจกำลังเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ - โรคหมอนรองกระดูกทับเส้น
ผู้เป็นโรคนี้จะมีอาการปวดหลังแบบเป็น ๆ หาย ๆ หรือมีอาการปวดร้าวลงขาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง ซึ่งหากไม่ยอมไปพบแพทย์ อาจรุนแรงถึงขั้นเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ดังนั้น เมื่อมีอาการปวดหลังและร้าวลงขา ควรพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อทำการรักษาทันที สาเหตุของโรคนี้ อาจมาจากการทำงานที่เคร่งเครียด ไม่มีการปรับเปลี่ยนอิริยาบถ จนร่างกายเกิดการอ่อนล้า และเสื่อมสภาพลงไป ฉะนั้น ในช่วงเวลาทำงานขอให้คุณหมั่นเปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ หรือลดน้ำหนักให้สมดุลกับร่างกาย และหลีกเลี่ยงการยกของหนัก
- โรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม
หรือ “โรคซีวีเอส” มีสาเหตุมาจากการใช้สายตากับจอคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเล็ต ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน (เกินความจำเป็น) ประกอบกับตำแหน่งการจัดวางคอมพิวเตอร์ไม่เหมาะสม มีแสงสว่าง หรือแสงสะท้อนจากจอคอมพิวเตอร์มากเกินไป ระยะห่างระหว่างดวงตากับจอคอมพิวเตอร์ ท่านั่งทำงานที่ไม่เหมาะสม สิ่งเหล่านี้ นำไปสู่ “โรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม” ทั้งสิ้น โดยอาการของผู้เป็นโรคนี้ คือ ตาแห้ง แสบตา ตาไม่สู้แสง ไม่สามารถจับโฟกัสได้ สำหรับวิธีป้องกัน เพียงคุณพักสายตาเป็นระยะ ๆ อาทิ ทุก 20 นาที ให้พักสายตาประมาณ 20 วินาที ทั้งการหลับตาพัก การเปลี่ยนจุดโฟกัสจากหน้าจอคอมฯ เป็นที่อื่น หรือลุกจากที่นั่ง เพื่อไปเข้าห้องหรือเดินไปดื่มน้ำก็ได้ - โรคลำไส้แปรปรวน (IBS)
ไม่ใช่โรคที่เป็นอันตรายถึงชีวิต หรือสัญญาณเตือนโรคมะเร็ง โดยอาการของโรคนี้ คือ อาการท้องเสีย อย่างไรก็ดี หากชีวิตคุณหลงเข้ามาติดกับเจ้า “โรคลำไส้แปรปรวน” ก็เตรียมใจไว้ได้เลยว่า ตลอดช่วงชีวิตของคุณต้องเผชิญกับโรคนี้อีกหลายครั้งแน่ ๆ ยิ่งหากคุณเครียดก็ยิ่งกระตุ้นอาการของโรค - โรคเส้นประสาทถูกกดทับที่ข้อมือ
หรือ “โรคพังผืดทับเส้นประสาท” เป็นโรคที่มักเกิดกับผู้ที่ทำงานกับคอมพิวเตอร์ หรืองานที่เกี่ยวข้องกับการใช้ข้อมือ ๆ อาทิ ครู ช่างเจาะถนน ทํางานเย็บปักถักร้อย หรือนักกีฬาบางประเภท (แบดมินตัน ปิงปอง วอลเลย์บอล) สำหรับโรคนี้มีวิธีการรักษาหลากหลายรูปแบบ ทั้งกินยา ทำกายภาพ หรือผ่าตัด แต่ไม่ว่าคุณจะรับการรักษาแบบใด หากยังมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตทำงานรูปแบบเดิม ๆ ก็มีความเสี่ยงกับมาเป็นโรคนี้อีก ดังนั้น คุณควรหมั่นบริหารมือและนิ้วอยู่เสมอ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ เอ็นข้อต่อ จะช่วยลดความเสี่ยงอาการเส้นเอ็นอักเสบ
เรียกได้ว่าแต่ละโรคน่ากลัวไม่ใช่น้อย มนุษย์วัยทำงานอย่างเรา ๆ อาจจะลุกออกจากโต๊ะทำงานบ้าง เพื่อเคลื่อนไหวร่างกาย ปรับนิสัยการใช้ชีวิตประจำวันใหม่ ปรับการกินใหม่ แบ่งเวลาไปพักผ่อนและออกกำลังกาย เพียงเท่านี้ บรรดาโรคร้ายก็จะหลีกหนีไปจากคุณเอง หรืออาจะลองหาประกันสุขภาพดีๆสักตัวเอาไว้สำรองเมื่อยามฉุกเฉินก็ดีนะคะ