ความคุ้มครอง อบ.1 และ อบ.2 ต่างกันอย่างไร?

        ประกันอุบัติเหตุ หรือที่หลายคนเรียกว่า ประกัน PA คือ ประกันที่ให้ความคุ้มครองกับผู้เอาประกันภัย ในกรณีเสียชีวิต ทุพพลภาพ  บาดเจ็บจากร่างกาย หรือความเสียหายจากการประสบอุบัติเหตุ แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่ยังสงสัยว่า อบ.1 และ อบ.2 นั่น มีความคุ้มครองต่างกันอย่างไร วันนี้ ANC จะพาให้ทุกคนมารู้จักกับความคุ้มครองของประกันภัยอุบัติเหตุ กันค่ะ โดยประกันอุบัติเหตุจะแบ่งจำแนกเป็น 3 ประเภทด้วยกัน

การประกันภัยอุบัติเหตุ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท

  • ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล หรือที่นิยมเรียกกันว่า ประกันภัย (PA) กรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุประเภทนี้ หมายถึง การทำประกันภัยอุบัติเหตุสำหรับบุคคล จะเป็นเฉพาะบุคคลใดบุคคลหนึ่งเท่านั้น หรือจะรวมถึงบุคคลในครอบครัวด้วยก็ได้

  • ประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่ม เป็นกรมธรรม์ประกันภัยที่เหมาะสำหรับองค์กรเพื่อใช้ในการให้สวัสดิการแก่ลูกจ้าง มีลักษณะคิดเหมาเป็นรายหัวภายในองค์กร หากลูกจ้างได้พ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของบริษัทนั้นๆ แล้ว ก็ถือว่าหมดความคุ้มครอง

  • ประกันภัยอุบัติเหตุสำหรับนักเรียน นิสิต นักศึกษา เป็นประกันภัยลักษณะเดียวกับประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่ม โดยเน้นความคุ้มครองสำหรับนักเรียน นิสิต นักศึกษา เหมาะสำหรับสถาบันการศึกษาต่างๆ (กรมธรรม์ประกันภัยสำหรับนักเรียน นิสิต และนักศึกษานั้น จะมีเฉพาะแบบ อบ. 1 เท่านั้น)

        การประกันอุบัติเหตุ โดยปกติแล้วจะให้ความคุ้มครองรวมถึงการถูกฆ่า หรือ ถูกทำร้ายร่างกายด้วย ไม่ว่าการถูกฆ่าหรือถูกทำร้ายร่างกายจะเป็นโดยเจตนา หรือไม่ก็ตาม อย่างไรก็ตามหากผู้เอาประกันภัยเห็นว่า ตนไม่มีความเสี่ยงภัยในการถูกฆ่า หรือถูกทำร้ายร่างกาย ก็สามารถที่จะไม่เอาประกันภัยในส่วนนี้ได้

วิธีการเลือกซื้อ ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล

1. จำนวนเงินเอาประกันภัยหรือทุนประกันภัยสูงสุด
เป็นจำนวนเงินที่จะปรากฏในหน้าตารางกรมธรรม์ บ่งบอกถึงวงเงินสูงสุดที่จะได้รับจากข้อตกลงคุ้มครองต่างๆ เราสามารถเลือกจำนวนวงเงินเอาประกันภัยนี้ได้ตามความพอใจ แต่ควรจะเหมาะสมกับรายได้ โดยปกติไม่ควรเกิน 100 เท่าของเงินเดือนที่ได้รับในปัจจุบัน หรือ 10 เท่าของรายได้ต่อปี

2. ข้อตกลงคุ้มครองที่เหมาะสมกับเรา โดยมีข้อที่ควรพิจารณาดังนี้
การเสียชีวิตและสูญเสียอวัยวะ โดยปกติเราจะได้ยินหัวข้อกำกับว่า อบ.1 หรือ อบ.2 ในการซื้อประกันภัยอุบัติเหตุอยู่เสมอ ตัวย่อสองตัวนี้เป็นตัวย่อของข้อตกลงคุ้มครองนี้ แบ่งออกเป็น 2 ระดับ ซึ่งมีความแตกต่างกัน ดังนี้

ตารางเทียบแสดงการเปรียบเทียบความคุ้มครอง อบ.1 และ อบ.2

 

การสูญเสียอวัยวะ หมายถึง การถูกตัดออกจากร่างกายหรือการสูญเสียสมรรถภาพนั้นตลอดไป โดยเปอร์เซ็นต์ที่ปรากฏหมายถึง สัดส่วนที่จะได้รับการจ่ายทดแทนเมื่อเทียบกับจำนวนเงินเอาประกันภัยที่ซื้อนั่นเอง และจะได้รับค่าทดแทนในรายการที่สูงสุดเพียงรายการเดียวเท่านั้น จะเห็นได้ว่า อบ.2 จะได้รับความคุ้มครองมากกว่า อบ.1

ทุพพลภาพ สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท คือ

1. ทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง และสูญเสียอวัยวะโดยถาวรสิ้นเชิง

  • ทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง หมายถึง ทุพพลภาพถึงขนาดที่ไม่สามารถประกอบหน้าที่ใดๆ ในอาชีพประจำและอาชีพอื่นๆ ได้โดยสิ้นเชิงตลอดไป ซึ่งอาการนั้นจะต้องเกิดขึ้นภายใน 180 วัน นับแต่วันที่เกิดอุบัติเหตุ และเป็นติดต่อกันไม่น้อยกว่า 12 เดือน เช่น ผู้ป่วยประสบอุบัติเหตุจมน้ำขาดอากาศเป็นเวลานาน ทำให้สมองตาย จึงมีอาการแบบ “เจ้าหญิงนิทรา” นอนอยู่อย่างนั้นตลอด ซึ่งระบบอื่นๆ ยังทำงานปกติแต่สมองไม่ทำงาน หรือกรณีที่เกิดอุบัติเหตุและมีผลกระทบต่อกระดูกสันหลังทำให้เป็นอัมพาตตั้งแต่คอลงมา หรืออัมพาตท่อนล่างทั้งหมด หรือไม่ก็เป็นอัมพาตซีกหนึ่งของร่างกาย เป็นต้น

  • การสูญเสียอวัยวะโดยถาวรสิ้นเชิง หมายถึง การถูกตัดออกจากร่างกายตั้งแต่ข้อมือหรือข้อเท้า และให้หมายรวมถึงการสูญเสียสมรรถภาพในการใช้งานของอวัยวะดังกล่าวข้างต้นโดยมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ชัดเจนว่าไม่สามารถกลับมาใช้งานได้อีกตลอดไป

  • การสูญเสียสายตา หมายความถึงตาบอดสนิทและไม่มีทางรักษาให้หายได้ตลอดไป

การทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง และสูญเสียอวัยวะโดยถาวรสิ้นเชิง และการสูญเสียสายตา จะได้รับความคุ้มครองตามข้อตกลงทั้ง อบ.1 และ อบ.2

2. ทุพพลภาพถาวรบางส่วน หมายถึง ทุพพลภาพถึงขนาดไม่สามารถประกอบหน้าที่การงานในอาชีพประจำตามปกติได้โดยตลอดไป แต่ทำงานอื่นๆ เพื่อสินจ้างได้ เช่น การสูญเสียความสามารถในการมองเห็น แต่ไม่ถึงขนาดตาบอด ถือเป็น “ทุพพลภาพถาวรบางส่วน” ผู้เอาประกันภัยที่ทุพพลภาพถาวรบางส่วนอาจไม่สามารถทำงานเดิมได้ แต่ยังทำงานอื่นได้ โดยทุพพลภาพถาวรบางส่วนจะได้รับความคุ้มครองเฉพาะใน อบ.2 เท่านั้น

3. ทุพพลภาพชั่วคราวสิ้นเชิง หมายถึง เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ทำให้ผู้เอาประกันภัยได้รับบาดเจ็บ ไม่สามารถปฏิบัติงานอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทุกอย่างในการประกอบอาชีพของตนได้ เช่น เป็นพนักงานขับรถแล้วเกิดอุบัติเหตุกระดูกต้นขาหักต้องรักษาโดยการเข้าเฝือก และระยะเวลาที่เข้าเฝือกผู้เอาประกันไม่สามารถทำงานได้ ถือเป็นทุพพลภาพชั่วคราวสิ้นเชิง ซึ่งจะได้รับความคุ้มครองเฉพาะใน อบ.2 เท่านั้น โดยมีลักษณะการจ่ายเป็นค่าทดแทนตามจำนวนสัปดาห์ที่อยู่ในระยะทุพพลภาพ

4. ทุพพลภาพชั่วคราวบางส่วน หมายถึง ความบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทำให้ผู้เอาประกันภัยมีอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานบางส่วนในการประกอบอาชีพประจำตามปกติของผู้เอาประกันภัย หรือเป็นผลต่อเนื่องจากการทุพพลภาพชั่วคราวสิ้นเชิง แต่ยังไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ครบทุกส่วน ซึ่งทุพพลภาพชั่วคราวบางส่วนได้รับความคุ้มครองเฉพาะใน อบ.2 เท่านั้น โดยมีลักษณะการจ่ายเป็นค่าทดแทนตามจำนวนสัปดาห์ที่อยู่ในระยะทุพพลภาพชั่วคราวบางส่วน

ค่ารักษาพยาบาล
ประกันภัยอุบัติเหตุมีให้เลือกทั้งรูปแบบที่รวมค่ารักษาพยาบาล และไม่รวมค่ารักษาพยาบาลก็ได้ โดยเป็นค่ารักษาพยาบาลที่มีสาเหตุมาจากอุบัติเหตุ มิใช่การเจ็บป่วย ข้อดีคือสามารถเบิกได้ทั้งแบบคนไข้นอกหรือคนไข้ใน และสามารถเบิกได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง แต่ในการเบิกแต่ละครั้ง จะสามารถเบิกได้ตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงและต้องไม่เกินวงเงินเอาประกันภัย โดยปกติแพ็คเกจในการขายประกันภัยอุบัติเหตุมักจะกำหนดอยู่ที่ 10% ของวงเงินสูงสุดกรณีเสียชีวิต

ความคุ้มครองเพิ่มเติม

        ในกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุจะมีรายละเอียดของข้อยกเว้นการจ่ายผลประโยชน์ไว้เป็นมาตรฐาน ซึ่งสามารถดูได้จากกรมธรรม์ประกันภัย แต่อย่างไรก็ดี ข้อยกเว้นบางประเภทสามารถที่จะขอขยายความคุ้มครองเพิ่มเติมได้ ดังนี้

1 การขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์

2 การจลาจล การนัดหยุดงาน

3 สงคราม

4 การโดยสารอากาศยานที่มิได้ประกอบการ โดยสายการบินพาณิชย์

5 การเล่นหรือแข่งกีฬาอันตราย

6 ภัยก่อการร้าย

หากคุณไม่รู้จะเริ่มซื้อประกันอย่างไร สามารถปรึกษา ANC  ให้ช่วยดูแล

หรือศึกษาแผนประกันอุบัติเหตุ >>  https://bit.ly/3yTjZs4

และประกันอื่นๆได้ที่ >> https://bit.ly/3APn51f

Write A Comment